ประเภทของเบียร์ ตอนที่ 1
หลังจากที่เราค่อย ๆ ทำความเข้าใจเนื้อหาพื้นฐานของเบียร์กันไปพอสมควรแล้ว ผมเลยอยากขอขยับเนื้อหาให้สนุกขึ้นอีกนิด เข้มข้นขึ้นอีกหน่อย โดยในบทความนี้ ผมจะพาเพื่อน ๆ ไปรู้จักกับ “เบียร์แต่ละสไตล์” ว่ามีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร เวลาเราเห็นคำอย่างเช่น Pilsner, Weizen, Witbier, Pale Ale, IPA, Stout และอื่น ๆ อีกมากมาย มันต่างกันอย่างไร ลองค่อย ๆ ทำความเข้าใจกันไปครับ
โดยหากเราจะแยกประเภทของเบียร์เพื่อให้เข้าใจอย่างง่าย ผมขออธิบายปัจจัยสำคัญที่สุดให้เพื่อน ๆ เข้าใจก่อน ซึ่งปัจจัยนั้นก็คือ “ยีสต์” ที่ใช้ในขั้นตอนการผลิตนั่นเอง โดยหลัก ๆ แล้ว ยีสต์ที่ใช้ในการผลิตเบียร์นั้นมีอยู่ด้วยกัน 2 ตระกูลใหญ่ ๆ นั่นก็คือ Lager Yeast (ลาเกอร์ยีสต์) และ Ale Yeast (เอลยีสต์) นั่นเอง
แล้วจึงค่อยแยกย่อยออกเป็นประเภทต่าง ๆ ของเบียร์อีกกว่าสิบกว่าร้อยแบบแตกต่างกันไป ทั้งสี, กลิ่น และรสชาติ ที่ขึ้นกับส่วนผสมที่ผู้ผลิตตั้งใจออกแบบมานั่นเองครับ
แต่เสียอย่างไรก็ตาม ไม่ว่าเบียร์จะมีสี, กลิ่น, รสชาติ แตกต่างหลากหลายเท่าไหร่ก็ตาม ยีสต์ 2 ประเภทที่ผมกล่าวมาข้างต้นคือหัวใจสำคัญที่สุดในการแบ่งประเภทของเบียร์นั่นเอง นั่นก็เพราะยีสต์ทั้ง 2 ประเภทมีเงื่อนไขในการทำงานที่ต่างกัน และยังให้ผลลัพธ์ต่อตัวเบียร์ที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน
ลาเกอร์ยีสต์
จริง ๆ แล้วเป็นยีสต์ที่น่าจะคุ้นเคยกันมากที่สุด นั่นก็เพราะเบียร์ร้อยละ 95 ที่วางขายอยู่ในร้านสะดวกซื้อนั้นเป็นเบียร์ที่ผลิตด้วยลาเกอร์ยีสต์ทั้งสิ้น เรียกว่า “โตมาด้วยกัน” ก็ได้ครับ โดยลาเกอร์ยีสต์นิยมนำไปผลิตเบียร์ที่มีสีเหลืองทอง ใส ดื่มง่าย ให้ความรู้สึกสดชื่น ไม่ซับซ้อนจนเกินงาม เรียกว่าเข้าถึงได้ทุกเพศ ทุกวัย (แต่ต้องเกิน 18 ก่อนนะจ๊ะ) นั่นเอง
จนในหลายครั้งมักทำให้เกิดความสับสนได้ว่า ลาเกอร์ยีสต์ผลิตเบียร์ได้เพียงประเภทเดียว แต่จริง ๆ แล้ว ลาเกอร์ยีสต์ก็สามารถนำไปผลิตเบียร์ประเภทอื่น ๆ ได้เช่นกัน ตัวอย่างเช่น Schwarzbier (ชวาร์ชเบียร์) จากเยอรมันที่มีสีดำเข้มคล้ายเบียร์ Stout ที่ใช้เอลยีสต์ ซึ่งเป็นคนละประเภท
🍺 เบียร์ลาเกอร์
เบียร์ประเภทนี้หมักด้วยลาเกอร์ยีสต์ รสชาติจะเบา สดชื่น ดื่มง่าย เหมาะกับวันที่อยากหาอะไรเย็น ๆ ดื่ม
เอลยีสต์
อาจจะฟังดูไม่คุ้นเคยนักสำหรับนักดื่มในประเทศไทย นั่นก็เพราะนับตั้งแต่มีการก่อตั้งโรงงานผลิตเบียร์ในประเทศไทย ทุกเจ้านิยมใช้ลาเกอร์ยีสต์ทั้งหมด จนกระทั่งเมื่อสิบกว่าปีที่ผ่านมา ในยุคสมัยที่กระแสคราฟต์เบียร์จากต่างประเทศได้หลั่งไหลเข้ามาให้นักดื่มชาวไทยได้ลิ้มลอง นั่นทำให้เอลยีสต์เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้นนั่นเอง
โดยจุดเด่นของเอลยีสต์คือการให้กลิ่นและรสชาติที่มีความซับซ้อน รวมไปถึงกลิ่นคล้ายผลไม้และเครื่องเทศ อันเกิดจากปฏิกิริยาทางเคมีในขั้นตอนการผลิต ทำให้ผู้ดื่มรู้สึกแปลกใหม่ในรสชาตินั่นเอง
ตัวอย่างเบียร์ที่ใช้เอลยีสต์ในการผลิตและให้ผลลัพธ์ด้านกลิ่นและรสชาติที่น่าสนใจมากที่สุดประเภทหนึ่ง นั่นก็คือ Weizenbier จากประเทศเยอรมันนั่นเอง ด้วยกลิ่นหอมคล้ายกล้วยและกานพลูที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของเบียร์ประเภทนี้ ที่ทำให้นักดื่มหลายคนเข้าใจว่ามีการใส่ส่วนผสมอย่างกล้วยลงไปในเบียร์จริง ๆ แต่ที่จริงแล้วกลิ่นกล้วยและกานพลูนั้นเป็นผลอันเกิดจากเอลยีสต์นั่นเอง
และเอลยีสต์ยังสามารถผลิตเบียร์ได้อีกหลากหลายประเภท หลากหลายสีอีกด้วย ตัวอย่างเช่นเบียร์ Stout ที่มีสีดำเข้มก็ใช้เอลยีสต์ในขั้นตอนการหมัก
🍺 เบียร์เอล
เอลยีสต์ให้กลิ่นและรสที่เข้มข้นขึ้น มักมีโทนผลไม้หรือเครื่องเทศ ดื่มแล้วรู้สึกถึงความหลากหลายของรสชาติ
ปัจจัยอื่น ๆ ในการแบ่งประเภทเบียร์
นอกจากยีสต์แล้วนั้น การแบ่งประเภทของเบียร์ยังสามารถใช้ปัจจัยอื่น ๆ เข้ามาประกอบได้อีก เช่น สี, ระดับแอลกอฮอล์ รวมไปถึงส่วนผสมพิเศษอื่น ๆ อีกด้วย
โดยในบทความ “ประเภทของเบียร์ ตอนถัด ๆ ไป” นั้น ผมจะมาอธิบายเพิ่มเติมว่ายังมีปัจจัยอะไรอีกที่สามารถนำมาแบ่งประเภทของเบียร์ได้ ดังนั้น อยากให้เพื่อน ๆ ติดตามบทความของเราต่อไปครับ
เรียบเรียงโดย: Nuttorn Wongpoom
🍻 เบียร์ทั้งหมดของเรา
ยังมีเบียร์อีกหลายสไตล์ให้คุณได้ลองอีกเพียบ